top of page

The End of Buddhist Lent Day

Updated: Oct 8, 2020


วันออกพรรษา ปวารณาเพื่อให้ยิ่งขึ้นไป

(ภาษาไทยโปรดอ่านข้างล่าง)


...

2 October 2020

The end of Buddhist lent day is a Buddhist holy day celebrated on full moon of the lunar month. It marks the end of the 3 lunar months of Buddhist Lent day, sometimes called “Pavarana”.

On this day, each monk must come before the community of monks and atone for an offense he may have committed during the Vassa.

...

วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ นี้ นอกจากจะถือได้ว่าเป็นวันธรรมสวนะ หรือวันพระแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนาที่ได้เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง คือ วันออกพรรษา หรือวันปวารณาออกพรรษา หรือวันสิ้นสุดช่วงฤดูจำพรรษาเป็นระยะเวลา ๓ เดือนของพระสงฆ์เถรวาท ซึ่งจะเป็นวันที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรมปวารณาออกพรรษากันในวันนี้


คำว่า “ปวารณา” แปลว่า อนุญาต หรือ ยอมให้ ซึ่งในวันออกพรรษานี้ พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ เรียกว่า มหาปวารณา จะเป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เพราะในระหว่างเข้าพรรษา พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข การให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้จะทำให้รู้ข้อบกพร่องของตน อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันอีกด้วย

แม้การปวารณานี้จะเป็นเรื่องระหว่างพระสงฆ์ด้วยกัน แต่การออกพรรษาก็เป็นวาระสำคัญอีกวาระหนึ่งที่ชาวบ้านจะได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน โดยในวันรุ่งขึ้น คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ มีประเพณีทำบุญตักบาตร ที่เรียกกันว่า “ทำบุญตักบาตรเทโว” หรือเรียกเต็มๆ ว่า “ตักบาตรเทโวโรหนะ” สืบเนื่องจากความเชื่อตามตำนานที่ว่าวันนี้เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจากเทวโลกหลังจากที่ได้เสด็จกลับจากการไปโปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเกิดขึ้นในพรรษาที่ ๗ แล้วลงมายังเมืองสังกัสสนคร พร้อมกับทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหาริย์เปิดโลกทั้งสาม คือ สวรรค์ มนุษย์ และ บาดาล (นรก) ต่างสามารถแลเห็นกันได้ตลอดทั้ง ๓ โลกด้วย


“...เมื่อก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนา "พระสัตตปรณาภิธรรม" คือพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดา (ซึ่งทรงบังเกิดอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต) ครั้นครบกำหนดการทรงจำพรรษาครบ ๓ เดือนพระพุทธเจ้าทรงปวารณาพระวัสสาแล้วเสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลกมาสู่มนุษย์โลก ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ โดย เสด็จลงทางบันไดแก้วทิพย์ ซึ่งตั้งระหว่างกลางของบันไดทองทิพย์อยู่เบื้องขวา บันไดเงินทิพย์อยู่เบื้องซ้ายและหัวบันไดทิพย์ที่ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ได้เนรมิตขึ้นทั้ง ๓ พาด บนยอดเขาพระสิเนรุราช อันเป็นที่ตั้งแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ส่วนเชิงบันไดตั้งอยู่บนแผ่นศิลาใหญ่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสนครและสถานที่นั้นประชาชนถือว่าเป็นศุภนิมิตรสร้างพระเจดีย์ขึ้นเป็น "พุทธบูชานุสาวรีย์" เรียกว่า "อจลเจดีย์" อนึ่งในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาสู่มนุษย์โลกนั้นประชาชนพร้อมกันไปทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมากสุดจะประมาณ...” ดังนั้นประเพณีที่นิยมกระทำกันและสืบทอดมาโดยตลอดคือ การตักบาตรเทโว ซึ่งถือตามประวัตินี้ก็เท่ากับเป็นการทำบุญตักบาตรรับเสด็จพระพุทธเจ้าในคราวเสด็จลงมาจากเทวโลกนั่นเอง

ประเพณีการทำบุญตักบาตรที่เรียกกันว่า “ทำบุญตักบาตรเทโว” หรือเรียกเต็มๆ ว่า “ตักบาตรเทโวโรหนะ” ท่านจัดว่าเป็นกาลนาน คือ หนึ่งปีมีหนึ่งครั้ง สำหรับพุทธศาสนิกชนนั้นเมื่อเสร็จจากการทำบุญตักบาตรแล้ว พุทธศาสนิกชนมักจะนิยมไปฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลในโอกาสวันอันสำคัญนี้ที่ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง


ดังนั้นในโอกาสนี้ จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่านในการร่วมสมาทานศีล ๕ หรือการตั้งจิตมั่นในการรักษากาย วาจา ใจ ให้เป็นปกติในศีล ๕ อันเป็นพื้นฐานอันดีงามให้แก่ชีวิต และให้เป็นบาทฐานในการดำเนินชีวิตไปตามหนทางแห่งมรรค เพื่อการหลุดพ้นจากสังสารวัฏอันแสนยาวนานอันหาเบื้องต้นเบื้องปลายไม่พบ โดยทุกท่านสามารถสมาทานศีล ๕ อย่างย่อด้วยตนเองดังคำกล่าวได้ดังนี้ . นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ฯ ( ๓ จบ)

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ปาณา ติปาตา เวระมณี สิกขา ปะทังสะมาธิยามิ อทินนา ทาณา เวระมณี สิกขา ปะทังสะมาธิยามิ กาเม สุมิฉา จารา เวระมณี สิกขา ปะทังสะมาธิยามิ มุสา วาทา เวระมณี สิกขา ปะทังสะมาธิยามิ สุราเมระยะ มัชชะปะมา ทัฏฐานา เวระมะณี สิกขา ปะทัง สมาธิยามิ อิมานิ ปัญจสิกขา ปทานิ สมาธิยามิ (๓ จบ) . เมื่อวันออกพรรษา คือ วันปวารณา หรือคือการยอมให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตน จะด้วยเพื่อการขัดเกลา การลดอัตตา หรือเพื่อการพัฒนาตนให้ดียิ่งขึ้นไปก็ดี ล้วนต้องพิจารณาความผิดหรือความไม่ดีในตน เมื่อพิจารณาเห็นว่าจริงแล้ว ต้องน้อมและยอมรับเอาความผิดพลาด หรือกรรม หรืการกระทำนั้นให้ได้เสียก่อน ผู้นั้นจึงจะเปิดใจยอมรับที่จะพัฒนาและปรับปรุงตนให้ดีขึ้นมาได้ อันเป็นการขัดเกลาตนให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไป

“การแก้กรรมที่ถูกต้องในความหมายของพระพุทธองค์ คือ การตั้งใจมั่นว่า...จะไม่ทำสิ่งนั้นอีกต่อไป” (พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ) .. องค์กร โนอิ้ง บุดด้า เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนา ๒ กันยายน ๒๕๖๓

... ที่มา : เทศนาธรรมคำสอนพระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกรมการศาสนา เรียบเรียงโดย : คุณธนัชพงศ์ เมธีปิยะวัฒน์

留言


bottom of page