วันกู้ชาติ (Independence day) การกอบกู้เอกราชของพระเจ้าตากสินมหาราช วันเพ็ญเดือน 12 วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 ณ ค่ายโพธิ์สามต้น . ในช่วงที่พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น พระยาวชิระปราการ (ตำแหน่งสุดท้ายของพระยาตาก) เจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งถูกเรียกตัวมาช่วยรักษากรุง เห็นว่าจะรักษากรุงไว้ไม่ได้ จึงรวบรวมผู้คนได้ประมาณ 500 คน ตีฝ่าแนวรบของทหารพม่าออกไปทางหัวเมืองชายทะเลตะวันออก เมื่อผ่านเมืองใดก็จะส่งทหารเข้าไปชักชวนให้เจ้าเมืองมาร่วมมือกัน ถ้าเมืองใดกระด้างกระเดื่องก็จะใช้กำลังเข้าโจมตี ทำให้พระยาตากมีกำลังมากขึ้น . พระยาตากเห็นว่าการจะกู้ชาติบ้านเมืองให้สำเร็จนั้นจะต้องมีบารมีเป็นที่นับถือยำเกรงของคนทั้งหลาย จึงประกาศตั้งตนเป็นเจ้าเมืองระยอง ด้วยความเห็นชอบของบรรดาทหารและประชาชน หลังจากนั้นจึงเดินทางไปยังจันทบุรี แต่ได้รับการต่อต้าน พระเจ้าตากจึงทรงแสดงความสามารถใช้กลวิธีปลุกใจทหารและสร้างแรงบันดาลใจโดยให้ทหารทุบหม้อข้าวหม้อแกงก่อนเข้าตี หวังจะไปกินอาหารมื้อต่อไปในเมือง ซึ่งได้ผลเพราะทหารเกิดกำลังใจที่จะต้องตีเมืองจันทบุรีให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีอาหารกิน การตีจันทบุรีจึงสำเร็จ และพระเจ้าตากสินจึงใช้เมืองจันทบุรีเป็นศูนย์กลางในการกู้เอกราช การยกทัพของพระเจ้าตากสินที่ตีฝ่าพม่าออกไปมีเส้นทางเดินทัพผ่านไปตามเมืองต่าง ๆ ถ้าพิจารณาตามสถานที่ของจังหวัดในปัจจุบันก็จะผ่าน อยุธยา—-นครนายก—–ปราจีนบุรี—–ฉะเชิงเทรา—–ชลบุรี—–ระยอง—–จันทบุรี . ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2310 เมื่อพระเจ้าตากสินมีกำลังไพร่พลมากขึ้น ได้ยกกองทัพเรือจากจันทบุรีเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยาจึงได้ยกทัพมาตีธนบุรีเป็นด่านแรก ได้ปะทะกับกำลังของนายทองอิน คนไทยที่พม่าแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษากรุง พระยาตากสินได้ชัยชนะจับนายทองอินประหารชีวิตเสีย จากนั้นจึงเดินทัพต่อไปที่กรุงศรีอยุธยาในค่ำวันเดียวกันนั่นเอง เข้ายึดค่ายโพธิ์สามต้น มีกองกำลังของพม่าคุมเชิงอยู่ มีสุกี้พระนายกองเป็นผู้บังคับบัญชา สุดท้ายสามารถปราบพม่าจนราบคาบ จึงสามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมา เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เวลาบ่ายโมงเศษ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๑๐ เวลาประมาณ 13.00 น. ใช้เวลา 7 เดือนหลังจากคราวเสียกรุง ปีต่อมาพระเจ้าตากได้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยาไปอยู่ที่กรุงธนบุรีซึ่งมีชื่อเต็มว่า “กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร” และได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ . เมื่อขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แล้ว พระองค์ยังมิได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จครอบคลุมอาณาจักรไทยทั้งหมด เพราะว่าหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว แผ่นดินว่างกษัตริย์ บ้านเมืองระส่ำระสาย คนไทยแตกแยกออกเป็นชุมนุมใหญ่น้อยมากมายแต่ละชุมนุมต่างรบราฆ่าฟันกันเองเพื่อแย่งชิงเสบียงอาหารและปล้นสะดมทรัพย์สินหรือเสริมสร้างอำนาจ ซึ่งพระเจ้าตากได้ทรงวางแผนการที่จะรวบรวมชุมนุมต่างๆ การปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ เป็นความจำเป็นทางการเมือง เพราะชุมนุมเหล่านี้ส่วนใหญ่มีความได้เปรียบพระเจ้าตากทั้งสิ้น ทั้งนี้พิจารณาได้จากชาติกำเนิดอำนาจวาสนาของผู้นำชุมนุม นอกจากชุมนุมของสมเด็จพระเจ้าตากสินแล้ว ยังมีชุมนุมขนาดใหญ่อีก 4 ชุมนุม ดังนี้ . 1. ชุมนุมเจ้านคร ตั้งอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช มีหลวงสิทธินายเวร(หนู) เป็นผู้นำหลวงสิทธินายเวรเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มีอำนาจสิทธิขาดในเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ในภาคใต้ มีผู้คนมาก มีกำลังเข้มแข็งเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกจึงถือโอกาสตั้งตัว เป็นอิสระ 2. ชุมนุมเจ้าพิมาย ตั้งอยู่ที่เมืองนครราชสีมา ผู้นำคือ กรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งเป็นโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีผู้คนมาเข้าด้วยเป็นอันมากเพราะถือว่าเป็นเจ้านายอาวุโสในราชวงศ์บ้านพลูหลวงเป็นผู้ที่เหมาะสมจะขึ้นครองราชย์อย่างถูกต้องตามทำนองครองธรรม 3. ชุมนุมเจ้าพิษณุโลก ตั้งอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ผู้นำชื่อ เรือง ปกครองหัวเมืองเหนือ พิษณุโลกเป็นชุมนุมใหญ่มีกำลังมาก ผู้นำมีความสามารถในการรบ เป็นความหวังของคนทางเหนือว่าจะเป็นผู้นำในการกอบกู้บ้านเมือง ชุมนุมนี้จึงแข็งแกร่งกว่าชุมนุมใด ๆ 4. ชุมนุมเจ้าพระฝาง ตั้งอยู่ที่สวางคบุรี อุตรดิตถ์ ผู้นำเป็นพระชื่อ เรือน เป็นพระสังฆราชาเมืองสวางคบุรี อยู่ที่วัดพระฝางเชี่ยวชาญทางไสยศาสตร์วิชาอาคม มีผู้คนศรัทธามาก จึงมีคนมาเข้าด้วยจำนวนมาก . การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินสามารถปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ ได้สำเร็จเท่ากับสามารถรวบรวมแผ่นดินที่เคยเป็นของอยุธยาทั้งหมดกลับคืนมาอีกครั้ง ทำให้คนไทยที่เคยแตกแยกกัน ได้กลับมารวมกันได้อีก อาณาจักรไทยยังมีกรุงธนบุรีเป็นศูนย์อำนาจแห่งใหม่ เริ่มมีขอบเขตแน่ชัดขึ้นมีความมั่นคง เข้มแข็งขึ้น และขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพทางการเมืองภายในของไทย รวมเวลาที่สมเด็จพระเจ้าตากสิน ใช้ในการปราบปรามชุมนุมต่างๆเพื่อรวบรวมไทยให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงเป็นเวลาทั้งสิ้น 3 ปี . วันที่ ๖ พฤศจิกายน จึงถือว่าเป็นวันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติสยาม เป็น “วันกู้ชาติ” หรือ “วันประกาศอิสรภาพ” ราชอาณาจักรสยาม วันที่คนไทยลืมไปแล้ว เมื่อ 250 ปีที่ก่อน เป็นวันที่กองทัพกู้ชาติของพระเจ้าตากเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาคืนจากข้าศึกพม่า ข้าศึกที่เผากรุงศรี ฆ่าชาวกรุงศรีนับแสน และยึดไว้ ๗ เดือนเต็มพอดี เป็นวันที่เราสามารถปลดแอกและขับไล่ข้าศึกออกจากดินแดนสยาม และ คืนความสุขให้กับชาวสยาม ที่ทนทุกข์ยากใต้วงล้อมข้าศึกมานับปี วันนี้จึงเป็นวันกู้ชาติ หรือ วันประกาศอิสรภาพ (Independence Day) ของสยามประเทศอย่างแท้จริง
. ด้วยแผนการอันแยบยลและความมุ่งมั่น อดทน พยายาม บนอุดมการณ์ที่พร้อมแลกด้วยชีวิตของ “พระเจ้าตากสิน” และกองทัพเหล่าทหารกล้า ทำให้สามารถคืนอิสรภาพให้กับคนไทย คงความเป็นเอกราชมายาวนานกว่า 250 ปี จนถึงวันนี้ . ข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อให้ลูกหลานไทยได้มีเอกราชตราบทุกวันนี้
Comentarios