top of page

Makha Bucha Day


วันมาฆบูชา

(ภาษาไทยโปรดอ่านด้านล่าง)

.

Makha Bucha Day is the full-moon day on the 3rd lunar month. It is one of the most special Dhamma Day which is also known as the Fourfold Assembly Day. The event happened 9 months after the enlightenment of the Lord Buddha in the afternoon of this day at Veluvana monastery/temple near Rajagaha city in Bihar region which is India today. It’s marked 4 important characteristics, known as “The Caturangasannipata”;


It was the full-moon day of the 3rd lunar month.

1,250 monks came to see the Lord Buddha without being summoned.

All of them were Arahants and

All of them have directly been ordained by the Lord Buddha himself.


On this occasion, Buddha taught all Arahants a summary of the core of Buddhism, called

“The Ovadapatimokkha”. It concludes the three principles; not to commit any bad deeds,

to perfect good deeds, and to purify the mind to be free from Kilesa.


..


FB : Knowing Buddha With Master Acharavadee Wongsakol

26 February 2021

...

Source: The Teachings of His Holiness the Supreme Patriarch of Thailand, Somdet Phra Ariyawongsakatayana Somdet Phra Sangharaja Sakalamahasanghaparinayaka

and Department of Religious Affairs


---


วันสำคัญยิ่งอีกวันหนึ่งในพระพุทธศาสนาที่ได้เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง มาฆบูชา หมายถึง การบูชา ในวันเพ็ญหรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ และยังเกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นคือ พระสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำนวน ๑,๒๕๐ รูปมาเฝ้าพระพุทธองค์ ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมาย พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา ๖ และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันนี้ได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ได้ในทุกสังคม ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปคือ ให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดี ให้ถึงพร้อมและทำจิตใจให้ผ่อง

.

ความเป็นมา

ภายหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ได้ ๙ เดือน เมื่อเสร็จพุทธกิจแสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ หรือประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะหรือเดือน ๓ ในเวลาบ่าย พระอรหันต์สาวกของพระพุทธองค์ได้มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธองค์ นับเป็นเหตุอัศจรรย์ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ เรียกว่า วันจาตุรงคสันนิบาต หมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ ๔" กล่าวคือ มีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ

๑.เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย

๒.พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น

๓.พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆองค์

๔.เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ์

.

หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติได้แก่ โอวาทปาติโมกข์ หมายถึง หลักคำสอนคำสำคัญของพระพุทธศาสนาอันเป็นไปเพื่อป้องกัน และแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น หรือคำสอน อันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ วิธีการ ๖ ดังนี้

.

หลักการ ๓

๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่การงดเว้น การลดละเลิกจากการทำบาปทั้งปวง ซึ่งได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ อันเป็นความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ ความชั่วทางกาย ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม ความชั่วทางวาจา ได้แก่ การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ ความชั่วทางใจ ได้แก่ การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม

๒. การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดีทุกอย่างซึ่งได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ อันเป็นความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ ความดีทางกาย ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น การไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการไม่ประพฤติผิดในกาม การทำความดีทางวาจา ได้แก่ การพูดแต่คำจริง พูดคำอ่อนหวาน พูดคำให้เกิดความสามัคคีและพูดถูกกาลเทศะ การทำความดีทางใจ ได้แก่ การไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่น มีแต่คิดเสียสละ การไม่ผูกอาฆาตพยาบาท มีแต่คิด เมตตา และปราถนาดี และมีความเห็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

๓. การทำจิตให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนิวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบ มี ๕ ประการ ได้แก่ ความพอใจในกาม (กามฉันทะ) ความอาฆาตพยาบาท (พยาบาท) ความหดหู่ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน (ถีนะมิทธะ) ความฟุ้งซ่าน รำคาญ (อุทธัจจะกุกกุจจะ) ความลังเลสงสัย (วิกิจฉา) เช่น สงสัยในการทำความดีความชั่วว่ามีผลจริงหรือไม่ วิธีการทำจิตให้ผ่องใส ที่แท้จริงเกิดขึ้นจากการละบาปทั้งปวงด้วยการถือศีลและบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา จนได้บรรลุอรหัตผล อันเป็นความผ่องใสที่แท้จริง

.

อุดมการณ์ ๔

๑. ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

๒. ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้ายรบกวน หรือเบียดเบียนผู้อื่น

๓. ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

๔. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ ๘

.

วิธีการ ๖

๑.ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือกล่าวโจมตีใคร

๒. ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

๓. สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎ กติกา กฎหมาย รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของสังคม

๔. รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหารหรือการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ

๕. อยู่ในสถานที่อันสงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

๖. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ได้แก่ ฝึกหัดชำระจิตให้สงบมีสุขภาพ คุณภาพ และประสิทธิภาพที่ดี

.

การปฎิบัติตนสำหรับพุทธศาสนิกชนในวันนี้ก็คือ การทำบุญตักบาตรในตอนเช้า หรือถวายภัตตาหารหวานทำบุญฟังเทศน์ที่วัด ในตอนกลางคืนร่วมทำพิธีเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ อีกทั้งตั้งจิตในการรักษาศีลอันเป็นการชำระกายใจให้บริสุทธิ์ และบำเพ็ญภาวนาเพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา อันจะยังประโยชน์แก่ตน เป็นการดำเนินตามพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ได้ถึงที่หมายแห่งการหลุดพ้นต่อไป

..

เพจ Knowing Buddha With Master Acharavadee Wongsakol

...

ที่มา : กรมการศาสนา

เรียบเรียงโดย คุณธนัชพงศ์ เมธีปิยะวัฒน์

Comments


bottom of page