top of page

วันอาสาฬหบูชา

Updated: Oct 21, 2020


(Please find English below) ... วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ นับได้ว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนา “อาสาฬห” แปลว่า เดือน ๘ ทางจันทรคติ ผนวกกับคำว่า “บูชา” แปลว่า การบูชาเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์อันสำคัญที่เกิดขึ้นในเดือน ๘ หรือที่เรียกว่า อาสาฬหบูชา . ภายหลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน ๖ แล้ว ได้ทรงพิจารณาสัจธรรมและทรงคำนึงว่าธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสรู้นี้มีความลึกซึ้งยิ่งนัก ยากที่ผู้คนจะเข้าใจได้โดยง่าย เมื่อทรงพิจารณาแล้ว และอาศัยพระกรุณาเป็นที่ตั้ง พระพุทธองค์จึงทรงแบ่งบุคคลออกเป็น ๔ จำพวก (บัว ๔ เหล่า) คือ

๑. อุคฆฏิตัญญู ผู้ที่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ทันทีทันใดในขณะที่มีผู้สั่งสอน เปรียบเหมือนดอกบัวที่โผล่ขึ้นพ้นน้ำแล้ว พร้อมที่จะบานเมื่อได้รับแสงอาทิตย์ในวันนั้น ๒. วิปจิตัญญู สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ ต่อเมื่อท่านได้ขยายความให้พิสดารออกไป เปรียบเหมือนดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอระดับน้ำ จะบานในวันรุ่งขึ้น ๓. เนยยะ ผู้ที่พากเพียรพยายาม ฟัง คิด ถาม ท่องอยู่เสมอไม่ทอดทิ้ง จึงได้รู้ธรรมวิเศษเปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังไม่โผล่ขึ้นจากน้ำ แต่เมื่อได้รับการหล่อเลี้ยงจากน้ำแล้ว ก็ย่อมจะโผล่และบานขึ้นในวันต่อ ๆ ไป ๔. ปทปรมะ ผู้ที่แม้ฟัง คิด ถาม ท่องแล้ว ก็ไม่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำกับเปลือกตม รังแต่จะเป็นอาหารเต่าและปลา . เมื่อทรงพิจารณาดังนี้แล้ว จึงตกลงพระทัยที่จะสอนบุคคลประเภทแรกก่อน โดยทรงแสดงธรรมเทศนาครั้งแรกหลังจากที่พระองค์ตรัสรู้แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ในชมพูทวีป ซึ่งปัจจุบันคือประเทศอินเดีย ธรรมเทศนาที่ทรงแสดงนี้เรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร โดยธรรมที่ทรงแสดงนี้มีใจความสำคัญคือ อริยสัจ ๔ หรือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ คือ

๑. ทุกข์ ได้แก่ ความไม่สบายกาย สบายใจ หรือปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด ๒. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ ๓. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา ๔. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา หรือทางแห่งการดับทุกข์ อันได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง . เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมแล้ว ได้ปรากฏว่าท่านโกณฑัญญะผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าปัญจวัคคีย์ได้มีความเข้าใจในหลักธรรมที่ทรงแสดงในครั้งนี้ เกิดดวงตาเห็นธรรม และได้ทูลขออุปสมบท ซึ่งพระพุทธองค์ทรงประทานอนุญาตทำการอุปสมบทให้แบบ “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนามีนามว่า “พระอัญญาโกณฑัญญะ” ดังนั้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ นี้ จึงถือได้ว่ามีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ๔ ประการ คือ ๑. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา ๒. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงได้มีปฐมสาวก ๓. เป็นวันแรกที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก ๔. เป็นวันแรกที่บังเกิดรัตนะครบองค์สาม เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ . ดังนั้นในวันอันสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนาวันนี้ จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่านน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ทรงเมตตาสั่งสอนหลักธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้เพื่อชี้ทางแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายได้ดำเนินรอยตามเพื่อการหลุดพ้น โดยการรักษาศีล ๕ อันเป็นพื้นฐานสำคัญขั้นต้นแห่งการหลุดพ้น และการรักษาความเป็นปกติแห่งความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ อีกทั้งเข้าวัดเพื่อทำบุญ ตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียน และน้อมปฏิบัติบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้จิตใจผ่องใส เป็นการทำแต่ความดี ละเว้นความชั่ว ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

5 กรกฎาคม 2563

... ที่มา : ความรู้เกี่ยวกับวันสำคัญไทย (เสถียรโกเศศ และพระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตโต) และกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เรียบเรียงโดย : คุณธนัชพงศ์ เมธีปิยะวัฒน์

.. Asanha Bucha day . The full moon in the 8th lunar month is an important day in the history of Buddhism. “Asanha” means the 8th lunar month and “Bucha” means a worship to recall the important events in the 8th lunar month, so this day is called “Asanha Bucha day”

After Buddha attained enlightenment on the 6th lunar month, he considered the Dhamma which he attained and realized that it was so profound, not many people could understand. With compassion, he considered that people could be divided into 4 groups (4 types of lotus), namely: 1. Those who can achieve superb Dhamma immediately while listening to the teaching as lotus flowers that emerge from the surface of water and are ready to blossom when receive sunshine on that day. 2. Those who can achieve superb Dhamma when listen to the teaching with more details, like lotus flowers at the surface of water and will be blossomed the next day. 3. Those who always persist and try to listen, think, ask and memorize the teaching, just as lotus flowers that have not yet emerged from the water but will emerge and will be blossomed after gaining nourishment. 4. Those who have even listened, thought, asked and memorized the teaching but cannot achieve superb Dhamma, just as lotus flowers under the water with mud which will be food for turtle and fish.

With this consideration, he decided to give his first sermon to the first five disciples at Isipatana (the Deer Park) in Varanasi, India. His first preaching was named “Dhammacakkappavattana Sutta” which means “Setting the Wheel of Dhamma in Motion” or the sermon for spreading Dhamma. The principle of the teaching is about “The Four Noble Truths”, namely:

1. Suffering which are physical discomfort, mental discomfort, or problems which people have to face. Indeed, we have to acknowledge the reality as it is. Accept and dare to confront the problem. Dare to face the reality. We have to understand that everything is impermanent and keeps changing. Hence, we cannot hold on to anything. 2. The cause of suffering of which the important cause is cravings or the string of cravings which relates to other factors. 3. The end of suffering begins with a free life. Live and see through the world and life. Let wisdom lead the way of life. 4. The path to end suffering is the process of problem solving through the Noble Eightfold Path. After the Buddha gave this sermon, the leader of the first five disciples named Kondana gained an insight in Buddha’s teaching and attained the first stage of enlightenment. Then he asked for ordination and became the first monk in Buddhism whom Buddha gave the ordination himself. Therefore, on the full moon day in the 8th lunar month, there were 4 important events:

1. It was the first day that Buddha proclaimed Buddhism. 2. It was the first day that Buddha told the truth of Enlightenment and gave the first sermon, Dhammacakkappavattana Sutta. 3. It was the day that there was the first disciple of Buddha who was ordained as a monk, Venerable Kondana. 4. It was the day that the Triple Gem was completed; including Buddha, Dhamma and Sangha (monks).

To commemorate such a significant day of Buddhism, we would like to invite every Buddhist to think of the great compassion of the Buddha who kindly guided us the way to spiritual freedom by observing the five precepts, the crucial foundation to reach liberation and also preserve humanity. We would also like to invite you to the temple to make merit, give alms, listen to Buddha’s teachings, walk around the temple with a candle in the candlelight procession, and meditate to dedicate merit and pay gratitude to the Buddha. All indeed are the heart of Buddha’s teachings: doing a good deed, restraining from committing a sin, and purifying our minds.

5 July 2020

Reference: Knowledge of Thai Important Days (Phra Dhammapitaka P.A.Payutto, Sathiankoset) and Department of Religious Affairs, Ministry of Culture.

Compiled by: Thanatpong Matheepiyawat Translation: Wisiwat Sitthakorn, Pimchanok Thanitsond

bottom of page